ภูไทในตำบลนายูง

ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อราวปี พ.ศ. 2380 ภูไทส่วนหนึ่งซึ่งได้อพยพมาพร้อมกันภูไทส่วนอื่นๆที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น ได้แยกมาเฉพาะกลุ่มหนึ่ง ประมาณ115คนโดยได้แอบหลบหนีมาตอนกลางคืน เหตุที่หนีมาเพราะไม่ชอบการปกครองของพระยาก่ำ ซึ่งเป็นคนดุร้ายปราศจากความเมตตาธรรม เมื่อออกจากเมืองวังแล้วก็เดินทางมาเรื่อย ๆ กินเวลาประมาณ 8 คืนก็มาถึงแม่น้ำโขง จึงพากันข้ามแม่น้ำโขงมาทางฝั่งขวา การเดินทางในตอนนี้เต็มไปด้วยความลำบากเพราะเส้นทางที่ผ่านมานั้นเป็นป่าดงพงทึบ และมีอุปสรรคนาประการ ประชาชนที่หนีมาด้วยกันก็เกิดล้มตายลงเป็นอันมาก จากไขป่าบ้างจากสัตว์ป่าที่มีอันตรายหลายชนิดบ้าง การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้ามาก ในที่สุดก็มากถึงเมืองภูแร่นช้าง เจ้าเมืองภูแร่นช้างออกมาสกัดกั้นขอให้อยู่แต่ก็ไม่ยอมอยู่ จึงเดินทางต่อไปถึงหมู่บ้านไหนก็ไม่ยอมเข้า เพราะยังกลัวอิทธิพลของพระยาก่ำอยู่ พอถึงบ้านอู้-เซียงกระดานจึงหยุดพักเพราะเห็นว่าไกลจากเมืองวังมากแล้ว อยู่ได้ไม่นานก็ออกเดินทางไปอีก จนในที่สุดก็เข้าเขตเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งในขณะนั้นมีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเมืองหนองหาร เจ้าเมืองหนองหารกับเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ได้สกัดกั้นเอาไว้และหาที่ให้อยู่โดยได้ที่อยู่ให้ ตั้งชื่อหมู่บ้านนั้นว่า "บ้านเว้อเซียงสา" เพราะมีเซียงสาเป็นผู้นำในการปกครอง จึงได้พบกับอัญญาหลวง ซึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้วที่เมืองท่าขอนยาง ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง อัญญาหลวงนี้เดิมที่มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเมืองวังของพระยาก่ำ แต่ได้อพยพมาก่อนพร้อมกับภูไทส่วนหนึ่งเพราะไม่ชอบการปกครองพระยาก่ำเช่นกันพออยู่ในบ้านดังกล่าวได้ไม่นานนัก ก็มีภูไทอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพออกจากหมู่บ้านนั้น บ่ายหน้าขึ้นทางทิศเหนือเพราะมีจุดมุ่งหมายจะย้อนกลับเมืองวังอันเป็นถิ่นเดิม การเดินทางครั้งนี้เป็นไปอย่างเรื่อยๆ สบายๆ ไม่รีบร้อนอะไร ในทีสุดก็มาถึงหนองน้ำกว้างขวางแห่งหนึ่งมีป่าไม้ร่มเป็นร่มเงา น้ำใส ไหลเย็นเป็นที่อยู่อาศัยของหมู่ปลานานาชนิดและเต็มไปด้วยฝูงสัตว์นานาพันธ์ เมื่องเที่ยวดูภูมิประเทศรอบๆ หนองจนเป็นที่พอใจแล้ว ผู้นำในการเดินทางจึงบอกให้หยุดพักชั่วคราวและพากันเรียกหนองแห่งนี้ว่าหนองซวาย เพราะมีปลาอยู่พันธ์หนึ่งซึ่งมีอยู่มากมายในหนองน้ำแห่งนี้ ชาวภูไทเรียกว่าปลาซาวาย ในที่สุดก็ออกสำรวจหาทำเลที่ตั้งหมู่บ้านและได้ตกลงเอาพื้นที่ ที่ห่างจากหนองซวายไปทางทิศตะวันตกประมาณ หนึ่งกิโลเมตร เป็นที่ตั้งหมู่บ้าน ณ บริเวณแห่งนี้เต็มไปด้วยนกยูง จึงให้ชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านนายูง" บ้านนายูงกับเมืองท่าขอนยางมีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะอัญญาหลวงผู้นี้เป็นชนเผ่าเดียวกันกับภูไทในตำบลนายูง และท่านได้มองเห็นความสำคัญของบ้านนายูง จึงได้มาทำการจัดตั้งผู้นำในการปกครองดดยให้ท้าวชินฮาดเป็นผู้นำในการปกครอง มีหลวงจางวาง ท้าวไชยนนท์และท้าวหมื่นหน้าเป็นที่ปรึกษาหมู่บ้าน อัญญาหลวงมีความประทับใจและปรารถนาอย่างยิ่งที่จะมาอยู่ที่บ้านนายูง แต่ไม่สามารถจะมาอยู่ได้เนื่องจากมีภาระหน้าที่ ที่ไม่อาจละทิ้งได้ จึงได้มาตั้งศาลาห้องไว้เป็นที่ทำการ หลายปีต่อมาอัญญาหลวงได้เกิดล้มป่วยจึงได้สั่งลูกหลานภูไทว่าเมื่อท่านถึงแก่กรรมแล้วให้นำเอากระดูกของท่านเก็บไว้ที่บ้านนายูง เมือถึงคราวที่ท่านถึงแก่กรรมแล้วพวกลูกหลานชาวภูไทได้ทำตามทีสั่งไว้ทุกประการ โดยได้เอากระดูกของท่านมาเก็บเอาไว้ในที่อันสมควร ต่อมาเมื่อพระพูทธศาสนาเจริญขึ้นมีการสร้างโบสถ์ จึงได้เอากระดูกของอัญญาหลวงบรรจุไว้ที่ฐานของโบสถ์แห่งนี้ ชาวบ้านได้สักการบูชามาตราบเท่าทุกวันนี้
พลเมืองของชาวบ้านนายูงได้เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จึงได้ย้ายไปตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ตามความจำเป็นทางด้านการครองชีพและความจำเป็นทางด้านการปกครอง ดังมีหมู่บ้านและรายชื่อผู้นำไปตั้งดังนี้ บ้านนาฮี แยกออกจากบ้านนายูงมีท้าววรรณกุล ,ปู่ป้อ,ปู่ปัดเสน และปู่อินสอน เป็นผู้นำไปตั้ง บ้านโคกหนองแวงแยกออกจากบ้านนายูงมี ปู่พันนุท้าวเป็นผู้นำออกไปตั้ง บ้านหนองอึ่งแยกออกจากบ้านนายูงมีปู่ทิดทาเป็นผู้นำไปตั้ง บ้านโคกก่องแยกออกจากบ้านหนองนกเขียนมีปู่ กาไชยราชเป็นผู้นำไปตั้ง บ้านคำดอกไม้แยกออกจากบ้านนาฮีมีปู่พุทธาเป็นผู้นำไปตั้ง บ้านป่าไร่แยกออกจากบ้านหนองอึ่งมีปู่วัน หลักคำเป็นผู้นำไปตั้ง บ้านหนองกุงปาวแยกออกจากบ้านโคกหนองแวงมีปู่เซียงทอง บุตรอินทร์เป็นผู้นำไปตั้ง บ้านคำม่วงแยกออกจากบ้านหนองนกเขียนมีปู่เต่าเป็นผู้นำไปตั้ง บ้านนายางออกจากบานโคกก่องมีปู่อุ้มเป็นผู้นำไปตั้ง บ้านนาม่วงแยกออกจากบ้านโคกหนองแวงมีปู่บุญมี ทองคำเป็นผู้นำไปตั้ง
เมื่อ พ.ศ. 2411 ทางราชการได้ตั้งให้บ้านนายูงเป็นตำบลนายูงจนกระทั้งทุกวันนี้