ประเพณีลงข่วง
ฮีต 12
คลอง 14
บายศรี
ประเพณีขึ้นบ้านใหม่
ประเพณีแต่งงาน
ประเพณีสู่ขวัญข้าว
ประเพณีการซ้อนขวัญ
ประเพณีการเลี้ยงผี
 

ฮีตที่ ๗ บุญชำระหรือบุญเดือนเจ็ด
การชำระล้างมลทิน ผงฝุ่น หรือสิ่งที่สกปรก รุงรังให้สะอาดปราศจากมลทินหรือความมัวหมอง เรียกว่า "ชำระ" หรือภาษาอีสานเรีกว่า "ซำฮะ" สิ่งควรเอาใจใส่ในการชำระให้สะอาดนั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ความสกปรกภายนอก ได้แก่ ร่างกาย เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัยที่ และความสกปรกอีกอย่างหนึ่งคือ ความสกปรกภายใน ได้แก่ จิตที่มีความโลภ โกรธ หลง อันสิ่งที่เป็นอกุศลมูลหรือสิ่งเป็นมูลเหตุของความไม่ดีไม่งามที่จะทำให้จิตใจของคนเราเศร้าหมองได้
การชำระในประเพณีนี้ได้แก่ การที่บ้านเมืองเกิดความเดือดร้อน มีข้าศึกมาทำลาย มีโจรปล้น เกิดรบราฆ่าฟันแย่งชิงกันเป็นใหญ่ เกิดโรคระบาด ผู้คน ช้าง ม้า วัว ควาย ล้มตายเพราะผีเข้าเจ้าสูญ (ผีโกรธ) คนอีสานถือกันว่าบ้านเมืองเกิดเดือดร้อน ซาตาบ้านเมืองขาด จำต้องมีการชำระให้หายจากเสนียดจัญไรเหล่านั้น การทำบุญเกี่ยวกับการชำระบ้านเมืองนี้ เรียกว่า "บุญชำระ" และมีกำหนดทำกันในเดือน ๗ จึงได้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนเจ็ด" ซึ่งบุญเดือนเจ็ดนี้นักปราชญ์โบราณอีสานได้กล่าวไว้เป็นผญาว่า...

เดือนเจ็ดเผาความฮ้ายอันตรายบ่มาผ่าน
นิมนต์พระขึ้นบ้านเล็งเป้าเข้าใส่ธรรม
บุญสิมาส่อยหยู้ซูส่งราศรี
บารมีผลทานสิไล่มารให้เลยพ้น
ตั้งแต่คนเฮาได้เคยยินมาตั้งแต่ก่อน
บุญชำฮะสละความเดือดฮ้อนเมืองบ้านสิฮ่มเย็น

มูลเหตุที่ทำบุญฃำฮะนี้ มีเรื่องเล่าไว้ในหนังสือธรรมบทว่า สมัยหนึ่งในเมืองไพสาลี ได้เกิดข้าวยากหมากแพงและฝนแล้ง ผู้คน ช้าง ม้า วัว ควาย ล้มตายลงเป็นอันมาก เกิดมีโรคอหิวาต์ระบาด ทั่วทั้งเมืองเต็มไปด้วยซากศพ เจ้าเมืองผู้ปกครองเมืองไพสาลีจึงได้ไปทูลอาราธนานิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อีก ๕๐๐ รูป เสด็จจากกรุงราชคฤห์มายังเมืองไพสาลีโดยทางเรือ เพื่อมาขจัดปัดเป่าหรือว่ามาชำระเสนียดจัญไรที่เกิดขึ้น การเดินทางในสมัยนั้นใช้เวลาเดินทางถีง ๗ วัน จึงเสด็จมาถึงเมืองไพสาลีได้ พอเมื่อพระองค์เสด็จมาถึงแล้วเกิดฝนตกห่าใหญ่ในเมืองเกิดน้ำท่วมมีระดับประมาณหัวเข่า น้ำที่ท่วมนั้นกลายเป็นผลดีแก่เมืองไพสาลี โดยได้พัดพาเอาซากศพของคนและสัตว์ลงสู่แม่น้ำและไหลออกสู่ทะเลในที่สุด ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทำน้ำมนต์ใส่บาตร ให้พระอานนท์นำน้ำมนต์นั้นไปพรมจนทั่วพระนคร โรคภัยไข้เจ็บก็เกิดระงับดับหายไป ด้วยอนุภาพของพระพุทธเจ้าและน้ำพุทธมนต์นั้น คนโบราณอีสานอาศัยความเชื่ออันนี้ จึงได้พากันทำเป็นประเพณี เมื่อถึงเดือน 7 ของทุกๆปี ก็จะพากันทำบุญชำระบ้านเมืองอยู่เป็นประจำ.