ประเพณีลงข่วง
ฮีต 12
คลอง 14
บายศรี
ประเพณีขึ้นบ้านใหม่
ประเพณีแต่งงาน
ประเพณีสู่ขวัญข้าว
ประเพณีการซ้อนขวัญ
ประเพณีการเลี้ยงผี
 

ฮีตที่ ๕ บุญสรงน้ำหรือบุญเดือนห้า
การรดน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์และผู้หลักผู้ใหญ่ เรียกว่า "สรงน้ำ" หรืออีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ตรุษสงกรานต์ โดยตรุษสรงกรานต์คือ วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน ในระยะนี้เรียกว่าตรุษสงกรานต์ เพราะมีกำหนดดทำในเดือนห้าจึงได้ชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนห้า" โดยถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยในสมัยโปราณ ดังที่ปรากฏในบทผญาเกี่ยวกับบุญเดือนห้าว่า...

ตกฤดูเดือนห้าสายลมบ่มาผ่าน
เห็นดอกจานเพิ่นแย้มบานเย้ยท้องนา
เดือนห้านี้บ่ได้ช้าปีใหม่มาเถิง
ให้พากันทำบุญปล่อยปลาลงน้ำ
เต่าสิถามหาบุ้นคนใจบุญสิมาปล่อย
นก สิ งอยง่าไม้คอยท่าตั้งแต่ฝน
เดือนนี้ม่วนจ้นๆ คนกะหลั่งมาหลาย
หาเอาทรายมากองก่อเจดีย์ไว้

สำหรับมูลเหตุของการกระทำบุญในเดือนนี้มีเรื่องเล่ากันเป็นนิทานปรัมปราว่า มีเศษฐิคนหนึ่งไม่มีบุตร จึงได้ไปบวงสรวงพระอาทิตย์ และพระจันทร์ เพื่อขอบุตร เวลาล่วงได้สามปีก็ยังไม่ได้บุตรดั่งใจหวัง จึงได้ไปขอบุตรกับต้นไทรอีก เทวดาอารักษ์ที่สิงอยู่ที่ต้นไทรมีความกรุณาได้ไปขอบุตรกะพระอินทร์ พระอินทร์ให้ธรรมบาลเทพบุตรซึ่งกำลังจะจุติจากสวรรค์ลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ โดยให้ถือกำเนิดในท้องภรรยาของเครษฐี เมื่อธรรมบาลกุมารประสูติแล้วเจริญวัยได้เรียนจบไตรเพทจนได้เป็นอาจารย์สอนทำการมงคลแก่คนทั้งหลาย
ครั้งนั้น กบิลพรหมในเทวโลกต้องการที่จะทดสอบปัญญาของธรรมบาลบัณฑิต จึงได้ลงมาถามปัญหาเกี่ยวกับศิริหรือศรีของคนเราแต่ละช่วงเวลานั้นอยู่ไหน โดยไห้สัญญาว่าถ้าธรรมบาลบัณฑิตแก้ปัญหาได้ภายในวันถ้วนเจ็ด (ครบเจ็ดวัน) จะตัดคอเอาศรีษะของตนบูชาปัญญาของธรรมบาลบัณฑิต แต่ถ้าธรรมบาลบัณฑิตแก้ปัญหาของกบิลพรหมไม่ได้ก็ต้องตัดศรีษะของธรรมบาลบัณฑิต บูชาปัญญาของกบิลพรหมเช่นเดียวกัน สำหรับปัญหาที่ถามกันนั้นมีอยู่ ๓ ข้อ คือ...
๑. ตอนเช้าศรีหรือศิริของคนเราอยู่ที่ไหน ?
๒. ตอนสายหรือตอนเที่ยงศรีหรือศิริของคนเราอยู่ที่ไหน ?
๓. ตอนเย็นหรือตอนค่ำศรีหรือศิริของคนเรสฃาอยู่ที่ไหน ?

ปรากฎว่าทีแรก ๆ ธรรมบาลบัณฑิตจนปัญญาที่จะแก้ปัญหานี้ได ้ยิ่งไกล้วันที่นัดหมายยิ่งเกิดความกลัดกลุ้ม เลยต้องสั่งลาลูกเมียหนีเข้าป่าไปตายเอาดาบหน้า จนกระทั่งเกิดความเหน็ดเหนื่อย จึงได้นอนพักทอดอาลัยที่ใต้ต้นไทรในป่า ในขณะที่นกอินทรีย์สองผัวเมียที่สร้างรังบนใต้ต้นไทรนั้นกำลังคุยกันถึงที่จะไปหากิน โดยฝ่ายนกตัวเมียถามนกตัวผู้ว่า พรุ่งนี้จะไปหากินหรือหาอาหารที่ไหน นกอินทรีย์ตัวผู้ตอบว่าพรุ่งนี้จะไม่ไปหากินไกล พรุ่งนี้กบิลพรหมจะได้ตัดคอธรรมบาลบัณฑิต เพราะไม่สามารถตอบปัญหาของกบิลพรหมได้ นกอินทรีย์ตัวเมียได้ถามถึงปัญหาที่กบิลพรหมถามธรรมบาลบัณฑิต แรก ๆ นกตัวผู้ก็ไม่อยากจะตอบเพราะกลัวข้อความหรือคำตอบของปัญหาจะรั่วไหลไปถึงหูของธรรมบาลบัณฑิตก่อน แต่ก็ทนต่อการรบเร้าของนกอินทรีย์ตัวเมียไม่ได้จึงได้ตอบปัญหา ๓ ข้อนั้นไป
ขณะนั้นธรรมบาลบัณฑิตนอนฟังอยู่ใต้ไทรนั่นเองและได้ทราบและเข้าใจถึงคำตอบ เกิดความดีใจอย่างล้นเหลือที่ตนเองจะสามารถแก้ปัญหาของกบิณพรหมได้ พอวันรุ่งขึ้นเป็นวันนัดหมาย กบิลพรหมได้มาทวงคำตอบและธรรมบาลบัณฑิตได้แก้ปัญหาทั้งสามข้อได้อย่างถูกต้องว่า...
๑. ตอนเช้าศรีหรือศิริอยู่ที่ใบหน้า คนเราตื่นมาตอนเช้าจึงต้องล้างหน้ารวมถึงการแปรงฟันด้วย
๒ .ตอนสายหรือเที่ยงศรีหรือศิริอยู่ที่หน้าอก ในช่วงเที่ยงเป็นช่วงที่มีอากาศร้อน จึงต้องเอาน้ำเย็นลูบ อก พรมน้ำอบน้ำหอม ให้บรรเทาความร้อน
๓. ตอนเย็นหรือตอนค่ำศรีหรือศิริอยู่ที่เท้า คนเราในตอนกลางวันไปทำงานกลับเข้าบ้าน
อาบน้ำรับประทานอาหารเย็นก่อนจะเข้านอน ก็ต้องล้างเท้าก่อนจึงจะเข้านอน

กบิลพรหมถูกตัดศรีษะเพื่อเป็นการบูชาปัญญาของธรรมบาลบัณฑิตตามที่ได้ตกลงกันไว้ ถือกันว่าเศียรหรือศรีษะของกบิณพรหมนั้นศักสิทธิ์มาก ถ้าวางไว้บนแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้ไปทั่วทั้งแผ่นดิน ถ้าโยนขึ้นไปในอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทรน้ำในมหาสมุทรก็จะเหือดแห้ง ก่อนที่จะตัดศรีษะ กบิลพรหมก็ได้เรียกธิดาทั้ง ๗ คนเอาพานมารองรับเอาเศียรและสั่งเสียลูกสาวทั้ง ๗ คน ว่าให้เอาเศียรของพ่อหลังจากที่ตัดแล้วไปแห่รอบเขาพระสุเมรุ ครั้นเสร็จแล้วให้นำไปตั้งไว้ที่ยอดเขาไกรลาศ พอถึงกำหนดขวบปีนางเทพธิดาทั้ง ๗ ผลัดกันเชิญเอาศรีษะของพ่อ (ท้าวกบิลพรหม) มาแห่รอบเขาพระสุเมรุแล้วแห่กลับไปยังเทวโลก และลูกสาวทั้ง ๗ ของท้าวกบิลพรหมก็ได้ปฏิบัติตามที่พ่อสั่งเสียทุกประการ

คนอิสานตลอดจนคนไทยได้ถือเอามูลเหตุที่กล่าวมาแล้ว เป็นการเริ่มต้นของการทำบุญตรุษสงกรานต์หรือบุญเดือนห้า ซึ่งพิธีการทำบุญตรุษสงกรานต์ นอกจากจะมีการสรงน้ำพระแล้ว ยังมีการสรงน้ำหรือรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เป็นเจ้าบ้านเจ้าเมือง ผู้ที่เป็นผู้ที่สูงชาติกำเนิด ผู้ที่มีอุปการคุณ เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการรดน้ำดำหัวเพื่อขอพรให้ลูกหลานได้อยู่ชุ่มกินเย็น นอกจากการสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว ยังมีการสรงน้ำเครื่องค้ำของคูณต่าง ๆ เช่น คุด เขา นอ งา แข้วหมูตัน จันทคาด เป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องค้ำของคูณเหล่านี้ถ้ามีอยู่บ้านใดเรือนใด จะทำให้เจ้าของนั้นเรีอนอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวของเงินทอง ในเทศกาลเช่นนี้ให้นำเอาเครื่องค้ำของคูณเหล่านั้นออกมาสรง จะทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของมีความสุขความเจริญสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยข้าวของเงินทอง

นอกจากนี้ยังมีการขนทรายเข้าวัดก่อเจดีย์ทราย หรือชาวอิสานเรียกกันว่า "พระทราย" คือทรายที่ก่อเป็นกองแล้วเอาธงผ้าธงกระดาษไปปักไว้บนยอดและรอบๆ โบราณอิสานเรียกว่า"กองประทาย"บ้าง เรียกว่า "กองประทราย" บ้าง หรือจะเรียกให้ตรงกับคำบาลีว่า "วาลุกเจติยํ" ซึ่งแปลว่า เจดีย์ทราย ซึ่งก็ได้แก่กองพระทรายนั่นเอง

มูลเหตุของการก่อเจดีย์ทรายนั้น มีเรื่องเล่าในหนังสือธรรมบทว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปถึงหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำใกล้เมืองพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นทรายขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง และมีจิตใจเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงได้กวาดเอาทรายมากองบูชาพระรัตนตรัยนับได้ ๘๔,๐๐๐ กอง เท่ากับจำนวนที่เกี่ยวกับหมวดธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ตลอดช่วงที่บำเพ็ญพุทธกิจ ๔๕ พรรษา ครั้นแล้วจึงได้เสด็จไปทูลถาม พระพุทธเจ้าถึงอานิสงฆ์ของการก่อเจดีญ์ทรายถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ หรือเจดีย์ทรายเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือจะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเกิดเป็นมนุษย์สมบัติเพรียบพร้อมไปด้วยยศศักดี์บริวาร มีเกียจชื่อเสียงขจรไปทั่วทิศานุทิศ ครั้นตายไปจะประสบสวรรค์สมบัติมีนางฟ้าเป็นบริวาร โดยอาศัยเหตุที่การก่อเจดีย์ทรายมีอานิสงส์มาก คนอิสานโบรานจึงนิยมก่อพระทราย หรือเจดีย์ทรายเป็นประเพณีจนทุกวันนี้

ประเพณีในการทำบุญอีกอย่างหนึ่งเทศกาลนี้ คือ การปล่อยสัตว์ เช่น นก ปู ปลา หอย เต่า เหล่านี้เป็นที่นิยมปล่อยกัน จนกระทั่งได้ปรากฏไว้ในบทผญาประจำเดือนที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น เพราะถือว่าการไถ่ถอนสัตว์อื่นนั้นมีบุญมาก เป็นการปลดเปลื้องสัตว์ให้พ้นทุกข์ในเหศกาลเดือนห้า