ประเพณีลงข่วง
ฮีต 12
คลอง 14
บายศรี
ประเพณีขึ้นบ้านใหม่
ประเพณีแต่งงาน
ประเพณีสู่ขวัญข้าว
ประเพณีการซ้อนขวัญ
ประเพณีการเลี้ยงผี
 

ฮีต หรือจารีต เป็นวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมที่คนท้องถิ่นชาวอีสานได้ประพฤติปฎิบัติสืบๆกันมาจนกลายเป็นประเพณี
ฮีตที่ ๑ บุญเข้ากรรมหรือบุญเดือนอ้าย
เดือนอ้ายหรือเดือนหนึ่ง หรือบางทีอาจจะเรียกว่าเดือนเจียงก็ได้มีประเพณีการทำบุญประจำเดือน คือ "บุญเข้ากรรม" ได้มีบทผญาที่กล่าวถึงบุญประจำเดือนนี้ว่า...

ตกฤดูเดือนอ้ายปลายลมมาสิหนาวหน่วง
ตกหว่างช่วงสังโฆเจ้าเพิ่นเข้ากรรม
เฮามาพากันค้ำทำบุญตักบาตร
ปริวาสซ่อยหยู้ซูค้ำศาสนา

การเข้ากรรม คือ การอยู่ปริวาสกรรมของภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งเรื่องของการอาบัตินี้เป็นเรื่องของพระที่ล่วงละเมิดพระวินัยหรือศีลแล้วเกิดโทษหรือความผิด ทีนี้เมื่อเกิดโทษแล้วก็ต้องมีการลงโทษอันเป็นเรื่องธรรมดาของการอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องมีขอบเขตของสังคม หรือกฏระเบียบต่างๆ ที่สังคมนั้นๆ บัญญัติขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันรักษาคนหมู่มากหรือสังคมส่วนรวม ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบของสังคม
ในสังคมของพระก็เช่นเดียวกันมีกฏระเบียบคือศีลของพระ หรือ พระวินัยเมื่อเกิดความผิดหรือการล่วงละเมิดศีลเกิดขึ้นก็ได้มีการชำระโทษหนักบ้าง เบาบ้าง ตามสมควรแก่ความผิดที่เกิดขึ้น ที่หนักที่สุดสำหรับพระคือการขาดจากความเป็นพระ หรือการต้องอาบัติปาราชิกนั่นเอง สำหรับการอยู่ปริวาสกรรมเป็นการลงโทษพระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งเป็นอาบัติที่มีโทษอย่างกลาง เมื่ออยู่ปริวาสและออกจากปริวาสเรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศีลที่บริสุทธิ์ เป็นภิกขุภาวะที่สมบูรณ์แบบ การอยู่ปริวาสนี้ไม่ใช่เรื่องของการล้างบาป แต่เป็นเรื่องของการลงโทษแก่ผู้ประพฤติผิดกฏระเบียบของสังคม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาๆ ของสังคมทั่วๆ
ไปนอกจากนี้คำว่า เข้ากรรม คนอีสานสมัยก่อน ๆ ใช้คำนี้เรียกผู้หญิงที่คลอดลูกใหม่แล้วอยู่ไฟเพื่อให้มดลูกแห้งและเข้าอู่เร็วว่า "แม่อยู่กรรม" เป็นที่น่าสันนิฐานได้ว่าการอยู่กรรมตามความหมายที่ได้กล่าวไปข้างต้นก็เป็นเหตุผลอันหนึ่ง และนอกจากนี้ การอยู่กรรม น่าจะมีความหมายอีกลักษณะหนึ่งคือ เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่ได้อุตส่าห์เลี้ยงลูกให้เติบโตมาด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะแม่นั้นนอกจากเลี้ยงลูกแล้วยังได้ดูแลลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะถ้าหากว่าลูกไม่ได้รับการเลี้ยงดูและการดูแลรักษาอย่างดีจากแม่ตั้งแต่อยู่ในท้อง อาจจะทำให้ลูกเสียชีวิต หรืออาจจะเกิดมามีร่างการไม่สมประกอบ มีความพิกลพิการ เช่นว่า ปากแหว่ง เพดานปากโหว่ แขนด้วน เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะอิทธิพลสารเคมีและตัวยาบางชนิด เช่น ยาธาลิโดไมด์ ยาสเตรปโตมัยซิน ยาคอแรมฟินิคอล เป็นต้น และนอกจากนี้แม่ที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่สมัยใหม่ ก็อาจจะทำให้ลูกเป็นโรคสมองเสื่อม แท้งลูกง่าย คลอดก่อนกำหนดได้
โดยอาศัยที่ว่าการอยู่กรรมมีการทรมานตนเช่นว่า มีการนั่งสมาธิเดินจงกรม สวดมนต์ภาวนา ใช้เวลามากกว่าปกติ บางทีมีการอดข้าว อดน้ำถึง ๒-๓ วันก็มี หรือบางทีก็ถูกอาจารย์กรรมฝึกหนัก ทั้งนี้ก็เพื่อให้รู้และเข้าใจความยากลำบากของคำว่า กรรม หรืออยู่กรรม ที่แม่ได้อยู่ไฟหรือว่าอยู่กรรมนั้นมี ความยากลำบากเพียงไร เพราะฉะนั้น คนในสมัยก่อนๆ จึงมีความตระหนักและเข้าใจในบุญคุณของพ่อแม่ ไม่มีข่าวปรากฏให้ได้ยินเห็นว่าลูกฆ่าพ่อ ตีแม่ ลูกอกตัญญ แต่กลับเทิดทูนพ่อแม่ในฐานะปูชนียบุคคลในระดับครอบครัวอย่างแท้จริง
ในกิจกรรมของพระในการนี้ พุทธศาสนิกชนผู้หวังบุญกุศลก็ร่วมกันดูแลอุปัฎฐากรักษาพระเจ้าพระสงฆ์ที่เข้าอยู่กรรม บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม เกี่ยวกับการเข้าอยู่ปริวาสกรรมของพระภิกษุ เรียกว่า"บุญเข้ากรรม" ส่วนกำหนดการทำบุญดังกล่าวได้กำหนดเอาเดือนอ้าย ส่วนจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ และเพราะมีกำหนดทำกันในระหว่างเดือนอ้ายนี้เอง จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า"บุญเดือนอ้าย"
สำหรับมูลเหตุแห่งชำระศีลให้บริสุทธิ์นี้ มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า ในสมัยพระกัสสปะพระพุทธเจ้า ได้มีภิกษุรูปหนึ่งพายเรือข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่ง ในระหว่างนั้นแม่น้ำมีกระแสที่ไหลเชี่ยว ท่านได้เอามือจับใบตะใคร้น้ำ เมื่อเรือถูกน้ำพัดไปทำให้ใบตะใคร้น้ำขาด ทานคิดว่าเป็นเรื่องที่มีโทษเล็กน้อย เวลาใกล้ตายคิดอยากแสดงอาบัติ แต่หาภิกษุที่จะรับไม่มี แม้ว่าท่านจะบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่านานถึง ๒๐,๐๐๐ ปีก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะบรรลุธรรมชั้นสูงได้ เวลาตายไปแล้วได้ ไปเกิดเป็นพญานาค ชื่อเอรกปัต หรือแปลว่า นาคใบตะใคร้น้ำ คงจะเป็นเพราะเหตุนี้นักปราชญ์โบราณอีสานจึงได้จัดการเข้ากรรมไว้ให้เป็นประเพณีสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้.