เครื่องดนตรี
แคน
ต้ง (พิณ)
มะกลิ้งกล่อม (โปงลาง)
การละเล่น
มะข่าง
มะหว้า
มะเตย
ไม้กิ้งก๊อง
ไม้หย้องแหย่ง
มะล้อ
ม้าก้านกล้วย
ปืนก้านกล้วย
เกือบกะโปะ
(รองเท้ากะลา )
ประวัติความเป็นมาของแคน
แคน เป็นชื่อเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคอีสานที่เก่าแก่มีมาแต่โบราณ แคนเป็น เครื่องดนตรีที่ใช้ปากเป่าให้เป็นเพลง ใครเป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีที่เรียกว่า "แคน" เป็น คนแรก และทำไมจึงเรียกว่า "แคน" นั้น ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนยืนยันได้ แต่ก็มีประวัติที่เล่า เป็นนิยายปรัมปราสืบต่อกันมา ดังต่อไปนี้หญิงหม้ายผู้คิดประดิษฐ์ทำแคนกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีพรานคนหนึ่งได้ไปเที่ยวล่าเนื้อในป่า เขาได้ยินเสียงนกกรวิก (นกการเวก) ร้องไพเราะจับใจมาก เมื่อกลับมาจากป่าถึงบ้าน จึงได้เล่าเรื่องที่ตัวเองไปได้ยินเสียง นกกรวิกร้องด้วยเสียงไพเราะนั้นให้แก่ชาวบ้าน เพื่อนฝูงฟัง ในจำนวนผู้ที่มาฟังเรื่องดังกล่าวนี้มี หญิงหม้ายคนหนึ่งเกิดความกระหายใคร่อยากจะฟังเสียงร้องของนกกรวิกยิ่งนักจึงได้พูดขอร้องให้นายพรานล่าเนื้ออนุญาตให้ตนติดตามไปในป่าด้วย เพื่อจะได้ฟังเสียงร้องของนก ตามที่นาย พรานได้เล่าให้ฟัง ในวันต่อมาครั้นเมื่อนายพรานล่าเนื้อได้พาหญิงหม้ายดั้นด้นไปถึงในป่า จนถึง ถิ่นที่นกกรวิก และนกเหล่านั้นก็กำลังส่งเสียงร้องตามปกติวิสัยของมัน นายพรานก็ได้กล่าวเตือน หญิงหม้ายให้เงี่ยหูฟังว่า"นกกรวิกกำลังร้องเพลงอยู่ สูเจ้าจงฟังเอาเถอะ เสียงมันออนซอนแท้ แม่นบ่"หญิงหม้ายผู้นั้น ได้ตั้งใจฟังด้วยความเพลิดเพลิน และติดอกติดใจในเสียงอันไพเราะ ของนกนั้นเป็นยิ่งนัก ถึงกับคลั่งไคล้ใหลหลง รำพึงอยู่ในใจตนเองว่า"เฮ็ดจั่งได๋นอ จั่งสิได้ฟังเสียงอันไพเราะ ม่วนชื่น จับใจอย่างนี้ตลอดไป ครั้นสิคอยเฝ้า ฟังเสียงนกในถิ่นของมัน ก็เป็นแดนดงแสนกันดาร อาหารก็หายาก หมากไม้ก็บ่มี" จึงได้คิดตัดสิน แน่วแน่ในใจตนเองว่า"เฮาสิต้องคิดทำเครื่องบังเกิดเสียง ให้มีเสียงเสนาะ ไพเราะออนซอนจับใจ ดุจดังเสียง นกกรวิกนี้ให้จงได้"เมื่อหญิงหม้ายกลับมาถึงบ้าน ก็ได้คิดอ่านทำเครื่องดนตรีต่างๆ ทั้งเครื่องดีด สี ตี เป่า หลายๆอย่างก็ไม่มีเครื่องดนตรีชนิดใดมีเสียงไพเราะวิเวกหวานเหมือนเสียงนกกรวิกในที่สุดนางได้ไปตัดไม้ไผ่น้อยชนิดหนึ่งเอามาประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่งแล้วลองเป่าดก็รูสึกค่อนข้างไพเราะจึงได้พยายามดัดแปลงแก้ไขอีกหลายครั้งหลายครา จนกระทั่งเกิดเป็นเสียงและ ท่วงทำนองอันไพเราะเหมือนเสียงนกกรวิก จนในที่สุดเมื่อได้แก้ไขครั้งสุดท้ายแล้วลองเป่าก็รู้สึก ไพเราะออนซอนดีแท้ จึงคิดที่จะไปทูลเกล้าถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้ทรงทราบ
ก่อนที่จะได้เข้าเฝ้า นางก็ได้เพียรพยายามปรับปรุงแก้ไขเสียงดนตรีของนางให้ดีขึ้นกว่า เดิม และยังได้ฝึกหัดเป่าเป็นท่วงทำนองต่าง ๆ จนมีความชำนาญเป็นอย่างดี
ครั้นถึงกำหนดวันเข้าเฝ้า นางก็ได้เป่าดนตรีจากเครื่องมือที่นางได้คิดประดิษฐ์ขึ้นนี้ ถวาย เมื่อเพลงแรกจบลง นางจึงได้ทูลถามว่า"เป็นจั๋งได๋ ม่วนบ่ ข้าน้อย"
พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ตรัสตอบว่า "เออ พอฟังอยู่"นางจึงได้เป่าถวายซ้ำอีกหลายเพลง ตามท่วงทำนองเลียนเสียงนกกรวิกนั้น เมื่อจบถึง เพลงสุดท้าย พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทรงตรัสว่า "เทื่อนี่ แคนแด่" (ครั้งนี้ ดีขึ้นหน่อย)
หญิงหม้าย เจ้าของเครื่องดนตรี จึงทูลถามว่า "เครื่องดนตรีอันนี่ ควรสิเอิ้นว่าจั่งได๋ ข้าน้อย" (เครื่องดนตรีนี้ ควรจะเรียกว่าอย่างไร พระเจ้าข้า)
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงตรัสว่า "สูจงเอิ้นดนตรีนี้ว่า "แคน" ตามคำเว้าของเฮา อันท้ายนี้ สืบไปเมื่อหน้าเทอญ" (เจ้าจงเรียกดนตรีนี้ว่า "แคน" ตามคำพูดของเราตอนท้ายนี้ ต่อไปภายหน้าเถิด)
ด้วยเหตุนี้ เครื่องดนตรีที่หญิงหม้ายประดิษฐ์ขึ้นโดยใช้ไม้ไผ่น้อยมาติดกันใช้ปากเป่า จึงได้ชื่อว่า "แคน" มาตราบเท่าทุกวันนี้นี่เป็นเพียงนิทานปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันมา ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน
บางท่านก็สันนิษฐานว่า คำว่า "แคน" คงจะเรียกตามเสียงเครื่องดนตรีที่ดังออกมาว่า "แคนแล่นแคน แล่นแคน แล่นแคน" ซึ่งเป็นเสียงที่ดังออกมาจากการเป่าเครื่องดนตรีชนิดนี้ แต่ บางคนก็มีความเห็นว่า คำว่า "แคน" คงเรียกตามไม้ที่ใช้ทำเต้าแคน กล่าวคือ ไม้ที่นำมาเจาะใช้ ทำเต้าแคนรวมเสียงจากไม้ไผ่น้อยหลาย ๆ ลำนั้น เขานิยมใช้ไม้ตะเคียน ซึ่งภาษาท้องถิ่นทางภาค อีสานเรียกว่า "ไม้แคน" แต่บางท่านก็ให้ความเห็นที่แตกต่างกันออกไป
แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าคิดอยู่บ้างคือ "แคน" นี้น่าจะทำขึ้นโดยผู้หญิง ซ้ำยังเป็น "หญิงหม้าย" เสียด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่า ส่วนประกอบที่ใช้ทำแคนอันสำคัญคือส่วนที่ใช้ปากเป่า ยังเรียกว่า "เต้า แคน" และมีลักษณะรูปร่างเป็นกระเปาะคล้าย "เต้านม" ของสตรีอีกด้วย ทั้งการเป่าแคนก็ใช้วิธี เป่าและดูด จนสามารถทำให้เกิดเสียงอันไพเราะ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสนับสนุนอีกข้อคือ คำที่ เป็นลักษณะนามเรียกชื่อและจำนวนของแคนก็ใช้คำว่า "เต้า" แทนคำว่า อัน หรือ ชิ้น ฯลฯ ดังนี้ เป็นต้น ที่สำคัญคือ เสียงของแคนเป็นเสียงที่ไพเราะอ่อนหวาน ซาบซึ้งเหมือนเสียงนกการเวก ตาม นิทานเรื่องดังกล่าว เหมือนเสียงของหญิงหม้ายที่ว้าเหว่เดียวดาย ดังนั้นถ้าจะกล่าวว่า "หญิงหม้าย" เป็นผู้ประดิษฐ์คิดทำแคนขึ้นเป็นคนแรก จึงเป็นเหตุผลที่น่ารับฟังได้มากพอสมควรทีเดียว

ท่วงทำนองแคน หรือ ลายแคน
ท่วงทำนองของแคนที่ถูกเป่าออกมานั้น ชาวอีสานเรียกว่า ลายแคน เป็นการสืบต่อกันมาจากหมอแคนในอดีต ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ลายแคนถูกประดิษฐ์ขึ้นจากการเลียนลีลาและท่วงทำนองหรือเสียงจากธรรมชาติ ซึ่งให้ความไพเราะจับใจ ลายแคนมีดังนี้
ลายสุดสะแนน คำว่า "สะแนน" คงจะเพี้ยนมาจากคำอีสานคำหนึ่งคือ "สายแนน" มีความหมายว่า ต้นตอ หรือสายใย เช่น ถ้าคนเราเคยเกิดเป็นพ่อแม่ลูกกันหรือผัวเมียกันในอดีต ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นดังอดีตอีก เขาเรียกว่าคนเกิดตามสาย "แนน" เนื่องจาก ลายสุดสะแนน เป็นลายครูของแคน มีความไพเราะเป็นพิเศษ จังหวะกระชับและมีลีลาท่วงทำนองตื่นเต้นเร้าใจตลอดเวลา หมอแคนทราบดีว่าจะต้องเป่าลายสุดสะแนนให้เป็นก่อน จึงจะก้าวไปสู่ลายแคนอื่นๆ ได้
ลายอ่านหนังสือใหญ่ เป็นลายแคนที่นิ่มนวล เสียงโหยหวล ทำนองลำยาว แสดงถึงความอบอุ่นมีเมตตา การเป่าลายนี้ผู้เป่าจะต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษไม่ให้มีเสียงเพี้ยนเลย
ลายอ่านหนังสือน้อย คล้ายคลึงกับลายอ่านหนังสือใหญ่ แต่มีจังหวะที่เร็วกว่า เสียงไม่ทุ้ม ให้ความไพเราะ ท่วงทำนองไม่สลับซับซ้อนเท่าลายอ่านหนังสือใหญ่
ลายแมงภู่ตอมดอก เป็นลายที่ลอกเลียนธรรมชาติได้ดีเป็นพิเศษ คำว่า แมงภู่ ก็คือ แมลงภู่ตัวใหญ่ๆ สีน้ำเงินแก่มองดูจนเขียว เวลาบินตอมดอกไม้มีเสียงดังหึ่งๆ ลักษณะเสียงของแมงภู่จะมีทำนองลีลาช้าๆ ก่อนแล้วเร็วกะชั้นเข้าตามลำดับ ลีลาของเสียงแคนจะฟังได้เป็นเสียงเล็กเสียงน้อย สมกับเสียงของแมงภู่ตอมดอกไม้จริงๆ
ลายโปงลางขึ้นภู ลายแคนนี้ก็เป็นลายดัดแปลงจากธรรมชาติเช่นกัน โปงลางนิยมทำไว้แขนคอวัวต่างๆ ซึ่งนายฮ้อย (พ่อค้า) นิยมเทียมเกวียนเที่ยวไปขายของในที่ต่างๆ เวลาวัวเดินข้ามภูเขา จะมีเสียงขึ้นๆ ลงๆ เป็นทำนอง เพราะวัวแต่ละตัวแขวนโปงลางขนาดที่แตกต่างกัน วัสดุมีความหนาบางต่างกัน เสียงประสานกันของโปงลางจากวัวแต่ละตัวผสมเข้ากับเสียงกีบวัวกระทบก้อนกรวด ก้อนหิน รวมทั้งเสียงออดแอดของล้อเกวียน ฟังแล้ววิเวกวังเวงชวนให้คิดถึงบ้านที่จากมาเป็นที่สุด หมอแคนจะดัดแปลงเลียนเสียงเหล่านี้ขึ้นเป็นลายแคน เรียกกันว่า ลายโปงลางขึ้นภู นั่นเอง
ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายแคนนี้เป็นเสียงพิลาปรำพันของหญิงหม้ายที่ว้าเหว้เดียวดายของนาง สะท้อนออกมาในการกล่อมลูกในเปล นางรำพันถึงความหลังและประชดประชันในชีวิตที่ถูกสามีทอดทิ้งไป หมอแคนถอดเอาความรู้สึกนี้มาสู่ลายแคนได้อย่างน่าฟัง เป็นลายเอกอีกลายหนึ่งที่มีคนรู้จักมากหลาย
ลายลมพัดไผ่ เป็นลายแคนที่เลียนแบบเสียงธรรมชาติอีกลายหนึ่ง ต้นไผ่ในอีสานมีมากมาย และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่หน่อถึงลำต้น เวลาลมพัดมาแต่ละครั้ง กิ่งไผ่จะลู่ไปตามลมเสียดสีกันดังออดแอด กอร์ปกับลักษณะการหล่นหลุดของใบไผ่จากต้นที่มีลักษณะพิเศษ เนื่องจากใบเล็กเรียวแหลม เมื่อตกลงยังพื้นดินจะเกิดการหมุนเหมือนกังหัน เมื่อตกลงมาพร้อมๆ กันจำนวนมากจะมีความสวยงามเป็นพิเศษ หมอแคนได้จินตนาการเอาลักษณะของใบไผ่ร่วงผสมกับเสียงเสียดสีของกิ่งไผ่ยามลู่ลมมาเป็นลายแคนที่ไพเราะ หวีดหวิวน่าฟัง เรียกกันว่า ลายลมพัดไผ่ นั่นเอง
ลายลมพัดพร้าว เป็นลายแคนที่จำลองแบบของใบมะพร้าวเมื่อต้องลมซึ่งผิดกันกับใบไผ่ ใบมะพร้าวเมื่อถูกลมจะโยกไหวอย่างเชื่องช้า คราใดที่พายุพัดโบกมาก็จะเอนตัวไปตามสายลมพร้อมกับสะบัดใบเสียงดังเป็นจังหวะ หมอแคนได้ถอดเสียงธรรมชาติออกมาเป็นลายแคนที่ไพเราะน่าฟัง ท่วงทำนองจะช้ากว่าลายลมพัดไผ่
ลายล่องของ คำว่า ล่องของ เป็นคำเดียวกับคำว่า ล่องโขง หมายถึงท่วงทำนองลำยาว เอื่ยๆ เรื่อยๆ แต่รัญจวนใจเปรียบเหมือนกับการปล่อยเรือให้มันล่องลอยไปตามกระแสน้ำตามลำน้ำโขงโดยไม่ต้องพาย ทำนองล่องของนี้จะเป่าแคนเดี่ยวๆ ก้ไพเราะน่าฟัง จะเป่าประกอบหมอลำตอนลำกลอนยาวล่องของก็ม่วนอีหลีเด้อ
ลายเต้ย เป็นลายแคนที่มีจังหวะกระชับ เร็ว การลำตามปกติจะต้องมาจากลำสั้นโต้ตอบกันระหว่างหมอลำฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เมื่อค่อนรุ่งก็จะเป็นลำลาแบบลำยาวเช่นลำล่องของ จึงจะถึงการเต้ย จังหวะเต้ยเป็นจังหวะกระชับเพื่อให้ผู้ลำได้ออกท่าฟ้อน ฉะนั้นเวลาเต้ยหมอลำจะต้องฟ้อนตลอด ไม่ยืนเฉยเหมือนการลำสั้นลำยาว คนไหนเต้ยได้ดี ฟ้อนได้สวย จะได้รับความนิยมมาก ฉะนั้นเวลาเป่าลายเต้ย หมอแคนจะเป่าเป็นตอนๆ ตามคนเต้ยแล้วมีที่ลง แต่ละตอนไม่ยาวนัก เพื่อให้เกิดความสนุกสนานน่าฟัง อาจสลับด้วยเต้ยหัวโนนตาล แล้วเป็นเต้ยพม่า ตามลำดับก็จะน่าฟังมากขึ้น
ลายเซิ้ง เป็นลายง่ายๆ เป่าให้คนฟ้อนในลักษณะเซิ้ง เบื้องต้นจริงๆ มาจากเซิ้งแม่นางด้ง ซึ่งต้องใช้แคนเป่าคลอไป ภายหลังได้ดัดแปลงเป็นเซิ้งต่างๆ เช่น เซิ้งสวิง เซิ้งกะหยัง เซิ้งกระติบข้าว แต่ทำนองก็คล้ายคลึงกัน