**********************************************
 
ภูไทในประเทศไทย
ภูไทในประเทศไทยได้ข้ามมาจากเมืองต่าง ๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ทิศใต้แง่สิบสิงจุไทย เช่น เมืองวัง เมืองเซโยน เมืองพิน เมืองนอง และเมืองมหาชัยเป็นต้น ซึ่งถูกกวาดต้อนมาบ้างติดตามญาติพี่น้องมาภายหลังบ้างต่างคราวกัน อีกพวกหนึ่งมาจากเมืองวัง ซึ่งได้อพยพมาจากเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูอีกทีหนึ่ง เล่ากันมาว่า เมืองน้ำน้อยอ้อยหนูเป็นเมือง ๆ หนึ่งใน เขตสิบสิงจุไทยทิศใต้ครั้งหนึ่ง (สันนิษฐานว่าจะเป็นราวปลายรัชกาลที่หนึ่ง หรือต้นรัชกาลที่สองแห่งกรุงเทพฯ ) เกิดฝนแล้วในเมืองนั้นมีความอัตคัดขาดแคลนมากราษฎรไม่ได้ประกอบกสิกรรมกันตามปกติ จึงเกิดความอดอยากเดือดร้อนกันทั่วไป เจ้าเมืองน้ำน้อยหนู คงจะคิดแก้ไข หรือไม่ก็คงกดขี่บังคับราษฎรเกินควร จึงเกิดทะเลาะกันขึ้นกับท้าวก่าอันเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกกันขึ้นในกาลต่อมา ท้าวก่าคนนี้เป็นผู้มีคนนับถือมาก คนหนึ่งในเมืองนั้น เมื่อมีการวิวาทกับเจ้าเมืองแล้วท้าวก่าจึงเกลี้ยกล่อมราษฎรภูไทในเมืองนั้น ได้ประมาณหมื่นเศษแล้วพาอพยพลงมาเพื่อตั้งหลักฐานพึ่งโพธิสมภารที่นครเวียงจันทน์ตกราวปี พ.ศ. 2347-2369 อันเป็นระยะที่พระเจ้าอนุปกครอง พระเจ้าอนุรุธารข์เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์สอบถาม ได้ความว่าพวกภูไทเหล่านี้เมื่ออยู่เมืองน้ำน้อยอ้อยหนู เคยทำแต่ไร่ข้าวและสวนแตงเป็นต้น ไม่เคยทำนาเลย จึงได้สั่งให้ไปตั้ง ภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองวัง อันอยู่ในอาณาเขตเวียงจันทน์ ทางทิศตะวันออกเป็นที่อยู่ของพวกข่าเป็นอันมาก แต่ข่าพวกนั้นไม่ได้มาขึ้นแก่เวียงจันทน์ พวกภูไทมีท้าวก่าเป็นหัวหน้า จึงได้ไปตั้งอยู่เมืองวังตามคำสั่ง
เมื่อมาอยู่ที่เมืองวังไม่นานก็เกิดมีเรื่องกันขึ้นกับพวกข่า ซึ่งตั้งภูมิลำเนาอยู่ก่อนแล้ว เกี่ยวกับปัญหาว่า ใครจะเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครอง พวกข่าก็อยากตั้งตัวเป็นนายปกครองพวกภูมิไท พวกภูไทก็อยากเป็นนายปกครองพวกข่าเรื่องเกือบจะต้องใช้กำลังอาวุธ แต่ในที่สุดตกลงในทางสงบได้ โดยใหม่การเสี่ยงบุญวาสนาพนันกันว่า ใครเอาหน้าไม้ยิงผา (ภูเขา)ลูกหน้าไม้ติดผาอยูได้ฝ่ายนั้นจะได้เป็นใหญ่อีกฝ่ายจะยอมอยู่ในปกครอง เมื่อถึงวันกำหนดเสี่ยงบุญวาสนา ต่างฝ่ายต่างก็นำหน้าไม้แห่กันไปยิงผาลูกหนึ่ง ซึ่งฝ่ายหลังมีชื่อตามที่ได้เสี่ยงบุญวาสนาว่า "ผาบุญ" พวกข่าพาซื่อเกินไปจึงใช้หน้าไม้ขายาว 3 ศอก ส่วนพวกภูไทมีไหวพริบดีกว่า จึงใช้หน้าธนูเล็ก ๆ ปลายลูกธนูติดปลายด้วยขี้สูด (ชันนางโรม) ข่าซึ่งเป็นพวกยิงก่อน ยิงไปโดยพาซื่อลูกหน้าไม้เมื่อปลิวไปถูกกับผก ได้กระดอนหล่นลงไม่ติดอยู่ ฝ่ายภูไทยิงไปค่อย ๆ ลูกธนูที่มีขี้สูดติดปลายจึงไปติดอยู่ที่ผา พวกข่าเห็นเป็นอัศจรรย์จึงยอมขึ้นอยู่ในความปกครองของภูไท บางพวกที่ไม่พอใจก็หลบหนีไป พวกภูไทรู้เข้าจึงออกติดตามไปกาด ( สกัด) อยู่ที่ผาแห่งหนึ่งช่องแคบเดินได้คนเดียวภายหลังได้นามตามนั้นว่าผากาดก็ไม่พบจึงออกติดตามต่อไป จนถึงผาลูกที่พวกข่าหนีเข้าซ่อนตัวอยู่ เห็นมีถ้ำกว้างลึกที่ปากถ้ำมีรอยคนใหม่ ๆ อยู่มากหลาย สงสัยจะเป็นรอยพวกข่าที่หนีมา จึงใช้พริกเป็นอันมากเผาอูด (สุมควันเข้าปากน้ำ) กลิ่นพริกเผาเข้ารบกวนพวกข่าที่ซ่อนตัวอยู่ในถ้ำนั้น ข่าก็จามไอกันยกใหญ่ทนอยู่ไม่ได้จึงพากันหนีออกมา ขอยอมอยู่ในความปกครองต่อไป ผาลูกนั้นจึงมีชื่อต่อมาว่าผาอูด ภูไทได้ปกครองพวกข่าในเมืองวังไปด้วยความเรียบร้อย ทางเวียงจันทน์ได้ทราบกิติศัพย์เช่นนั้นก็ดีใจพระเจ้าอนุฯผู้ครองเวียงจันทน์ จึงตั้งได้ท้าวก่าเป็นพระยาก่าดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองวัง และประทานนางลาวสาวสนมคนหนึ่งให้เป็นกริยา กับได้สงพระครูรูปหนึ่งเป็นหัวหน้าสงฆ์ไปจัดการด้านศาสนาอยู่ที่เมืองวังนั้น พระยาก่ามีบุตรกับนางลาวสามคนชื่อท้าวคฏคำ (ตายตั้งแต่ยังเล็ก) ชื่อท้าวก่ำและท้าวแก้ว พระยาก่ำได้ส่งพร้าโต้เป็นส่วยแก่เวียงจันทน์ปีละ 500 เล่มและเพราะอาณาเขตติดกับเมืองราชคำฮั้ว(เมืองญวน)กลังจะถูกรุกรานจึงจฃส่งขี้ผึ้งหนัก 5 ชั่งแก่พระยาราชดำฮั้วปีละ 4 ปึกโดยทางไมตรี
เมื่อพระยาก่าถึงแก่กรรมแล้วพระเจ้าอนุได้ตั้งพระยาติโชติ (ไม่ปรากฎนามเดิม)เป็นเจ้าเมืองแทน เมื่อพระยาติโชติถึงแก่กรรมแล้วได้ตั้งท้าวก่ำบุตรคนที่ 2 ของพระยาก่าเป้นพระยาก่ำดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง และตั้งท้าวแก้วผู้น้องชายเป็นอุปฮาด อยู่บ้านหนึ่งต่างหากถัดเมืองวังออกไป พระยาก่ำเป็นคนดุร้ายปราศจากความเมตตาปราณี จึงทำให้ราษฎรเดือดร้อนและเบื่อหน่าย ฝ่ายอุปฮาดแก้วเป็นผู้เมตตาอารีย์ซื่อสัตย์สุจริตเอื้อเผื้อเผื่อแผ่ดี จึงมีราษฎรนับถือเป็นอันมาก พระยาก่ำเกิดระแวงกลัวน้องชายจะแย่งอำนาจจึงคิดปองร้าย วันหนึ่งสั่งไปให้มาหาพออุปฮาดแก้วกับนางหลวงภริยาขี่ช้างจนมาถึงประตูเมืองจึงเอาหอกแทงอุปฮาดแก้วตายภริยาอุปฮาดแก้วจึงขี่ช้างรีบไปบอกนางลาวแม่ผัว นางลาวได้ทราบเรื่องแล้วก็ร้องให้โกรธเป็นอันมากจึงแช่งไว้ว่า "คนภูไทนี้เป็นพี่น้องร่วมท้องกันแท้ ๆ ก็ยังฆ่ากันได้ ต่อไปภายไน้าขออย่าให้คนพวกนี้มีอายุมั่นขวัญยืนหาได้เป็นใหญ่เป็นนาย ก็ขออย่าได้เจริญในราชการและขออย่าให้คนพวกนี้ได้อยู่เฮือนพื้นแป้นแผ่นกระดานเลย"
ตั้งแต่ พ.ศ. 2369 ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าอนุเป็นกบฏเป็นต้นมา ประเทศไทยก็มีเรื่องกับการปราบและจัดการเมืองเวียงจันทน์อยู่หลายปี (รัชการที่สามแห่งกรุงเทพฯ)
ใน พ.ศ. 2377 ซึ่งเป็นปีที่ไทยกับญวนทำสงครามแย่งประเทศเขมรติดพันกันอยู่นั้น พระมหาสงครามรองแม่ทัพไทยคนหนึ่ง กับอุปฮาดเมืองเวียงจันทน์ (ที่ไทยจับได้) ราชบุตรเมืองกาฬสินธุ์และพระพิชัยอุดมเดช เจ้าเมืองภูแร่นช้างเป็นต้น ได้ยกพลไปกวาดต้อนราษฎรในเขต เวียงจันทน์ทางทิศตะวันออกคือ เมืองวัง เมืองเซโปน เมืองพิน และเมืองนองเป็นต้น ให้ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งอยู่ฝั่งนี้ เจ้าเมืองวังและกรมการพร้อมด้วยราษฎรได้แตกหนีระส่ำระสายไป พระมหาสงครามจึงให้ท้าวสายและท้าวเพี้ยเมืองวังไปเกลี้ยกล่อม ได้ครอบครัวราชวงศ์(กอ) ท้าวดวงบุตรเจ้าเมืองและท้าวตัวบุตรอุปฮาดเข้าสวามิภักดิ์ ส่วนพระยาก่ำที่หนีไปนั้นเมื่อกองทัพไทยได้กลับมาแล้วก็ได้กลับมาอยู่เมืองวังตามเดิม
พ.ศ. 2379 เจ้านครจำปาสัก (นาก) ซึ่งได้รับคำสั่งของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่ตั้งขัดตาทัพอยู่ที่เมืองอุดมมีชัยกรุงกัมพูชา ให้เป็นกองพลส่งลำเลียงและลาดตระเวน รักษาด่านทางญวน ได้จัดท้าวพระยาคุมพลไปลาดตระเวนและเกลี้ยกล่อมพวกภูไทและข่าในเมืองวัง เซโปน เมืองพิน และเมืองนองได้มาเป็นอันมาก พวกภูไทและข่าที่มาทั้งหมดนั้นได้มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในภาคอีสาน แต่บางพวกเมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว ได้กลับคืนไปภูมิลำเนาเดิมก็มี
พื้นที่ ที่พวกภูไทจากเมืองวังมาตั้งอยู่คราวแรกนั้น คือที่ ที่บัดนี้เป็นบ้านโพน บ้านหนองช้างและบ้านหนองยาง อำเภอสหัสขันธ์อยู่ที่ตำบลโพน ตำบลบัวขาว ตำบลแจนแลนตำบลภูแร่นช้าง ตำบลสงเปลือยและตำบลคุ้มเก่า และยังมีที่อำเภอกุดฉินารายณ์อีกหลายตำบลในจังหวัดกาฬสินธุ์ ภูไทในจังหวัดสกลนครมีที่ อำเภอพรรณานิคมหลายตำบล ภูไทในจังหวัดนครพนม มีที่อำเภอธาตุพนม ที่ตำบลเรณู บ้านคำชะอี บ้านหนองสูง มุกดาหาร พวกเจ้าของโรงกลาง คือพวกราชบุตรเมืองวัง (ท้าวควง) ตั้งอยู่ที่อำเภอพรรณานิคม พวกเมืองแสนตั้งอยู่ที่บ้านหนองสูงและบ้านคำชะอี ส่วนภูไทในจังหวัดอุดรธานี มีที่อำเภอศรีธาตุ ที่ตำบลนายูง ตำบลหนองนกเขียน และภูไทที่อำเภอวังสามหมอ ก็มีที่ตำบลหนองหญ้าไซ ตำบลหนองกุงทับม้าอีกหลายหมู่บ้าน
อนึ่ง อำเภอเหล่านี้ตามแบบปกครองเก่า มีชื่อว่าเมืองเช่นอำเภอสหัสขันธ์ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2405 โดยยกบ้าน พันลำ ตำบลภูคันโท ขึ้นเป็นเมืองสหัสขันธ์ ท้าวแสน (บุตรเจ้าเมืองกมลาสัย) เป็นเจ้าเมืองและได้บรรดาศักดิ์เป็นพระประชาชนบาลคนแรก และอำเภอกุฉินารายณ์ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2481 ที่บ้านกุดสิม ราชวงศ์กอ เป็นเจ้าเมืองคนแรกและได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาธิเบศร์วงศา ภูไท ณ บัดนี้ได้แพร่หลายขึ้นโดยลำดับ หลายตำบล หลายหมู่บ้าน